ท่อเฟล็กซ์คืออะไร และใช้งานอย่างไร


         ท่อเฟล็กซ์ (FLEXIBLE DUCT HOSE) ท่อลมระบายอากาศที่สามารถดัดงอได้ มีทั้งแบบมาตรฐานและที่สามารถอยู่ตัวได้ หรือดัดคงรูป หรือที่เข้าใจได้ง่ายๆ ว่ามีทั้งแบบแข็งและแบบอ่อน ซึ่งท่อเฟล็กซ์ผลิตจากวัสดุหลายชนิด โดยท่อเฟล็กซ์สามารถต่อกับพัดลม ต่อกับเครื่องจักร เพื่อระบายอากาศ สำหรับท่อเฟล็กซ์เหล่านี้มีความยืดหยุ่นสูง จึงทำให้โรงงานอุตสาหกรรม หรืออาคารส่วนมากเลือกติดตั้งท่อเฟล็กเพื่อระบายอากาศ สำหรับโครงสร้างของท่อเฟล็กซ์ จะประกอบไปด้วยอลูมิเนียมฟอยล์ และโพลีเอสเตอร์ มีตัวช่วยในการขึ้นโครงได้แก่ ลวดและสปริงเคลือบทองแดงกันสนิม ซึ่งยึดด้วยกาวชั้นดีชนิดพิเศษ ทำให้ทนต่ออุณหภูมิที่สูง และทนต่อการผุกร่อนที่เกิดจากความชื้น สำหรับการเลือกใช้ท่อเฟล็กซ์ควรเลือกใช้งานอย่างเหมาะสม เพราะเป็นระบบที่สำคัญที่ช่วยหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนอากาศจากภายในไปยังภายนอก ทำให้อากาศถ่ายเทอย่างสะดวก ผู้คนสามารถอยู่อาศัยในสถานที่นั้นๆ ได้

มาทำความรู้จักกับท่อเฟล็กซ์ท่อส่งลมระบายอากาศแต่ละชนิด

1. ท่อเฟล็กซ์ยางพีวีซี

         เป็นท่อเฟล็กซ์ที่ผลิตจากยางพีวีซี มีน้ำหนักเบาและมีความยืดหยุ่นสูง มีแกนขดลวดซึ่งทำจากพลาสติกติดตายตัว คลุมด้วยพลาสติกนุ่มเพื่อป้องกันการปะทะและแรงกระแทกจากภายนอก ซึ่งท่อเฟล็กซ์ยางพีวีซี จะเหมาะสำหรับการใช้ในการระบายน้ำ อุตสาหกรรมทำไร่ ทำนา ใช้ในการระบายอากาศ หรือดูดฝุ่น งานที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 80 °C

     

2. ท่อเฟล็กซ์ผ้าใบ

         ท่อเฟล็กซ์ผ้าใบ ท่อส่งลมผ้าใบเคลือบพีวีซี อาจจะเห็นได้ว่ามีสีน้ำเงินและสีดำ สามารถทนอุณหภูมิได้ที่ 100 °C ในส่วนของตัวท่อประกอบด้วยขดลวดโลหะ ทำจากวัสดุที่ไม่ลามไฟ มีความทนทาน ยืดหยุ่นสูง และต้านทานลมได้เป็นอย่างดี ท่อเฟล็กซ์ผ้าใบเหมาะสำหรับงานดูดระบายอากาศออก ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งระบบลมร้อนและระบบลมเย็น สามารถดูดฝุ่นควันได้

3. ท่อเฟล็กซ์อลูมิเนียม

         ถือเป็นท่อเฟล็กซ์ยอดนิยมที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้ท่อเฟล็กซ์อลูมิเนียมในระบบท่อลม ท่อเฟล็กซ์อลูมิเนียม เป็นท่อส่งลมที่มีความยืดหยุ่นและมีน้ำหนักเบา สามารถโค้งงอได้เป็นรูปร่างตามที่เราดัด ซึ่งผลิตจากอลูมิเนียมอย่างดี มีลักษณะเป็นลูกฟูก และต่อตะเข็บล๊อกเป็นเกลียวแบบ Double seam คล้ายฟันเฟือง ทนอุณหภูมิสูง และติดตั้งง่าย

 

4. ท่อเฟล็กซ์พียู

         ท่อเฟล็กซ์โพลีเอสเตอร์-โพลียูริเทน (PU-S) เป็นท่อที่ทำจากพลาสติกมีสีเหลืองใส ทนอุณหภูมิ -40 ถึง +120 องศาเซลเซียส เหมาะสำหรับงานดูดระบายอากาศ ฝุ่นละออง น้ำมัน ควันจากน้ำมันที่ใช้ภายในรถยนต์ มีคุณสมบัติยืดหยุ่นได้ดีเยี่ยม ต้านทานการเกิดไฟฟ้าสถิต ทนน้ำมัน สารเคมี ทนการขีดข่วน เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมอาหาร

5. ท่อเฟล็กซ์ซิลิโคนเคลือบไฟเบอร์กลาส

         เป็นท่อเฟล็กซ์สีแดงที่เหมาะกับงานระบบลมร้อน งานที่มีการระเหยของสารเคมี งานที่เกี่ยวกับห้องเครื่องจักรที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะติดตั้งไว้ภายในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งท่อเฟล็กซ์ซิลิโคนเคลือบไฟเบอร์กลาส จะทำหน้าที่ดูดกลิ่น ดูควันได้เป็นอย่างดี สามารถทนอุณหภูมิได้ถึง 260 °C 

6. ท่อเฟล็กซ์กระดูกงู

         ผลิตจากโพลีโพรพิลีนอย่างดี สามารถดัดโคงให้อยู่ตัวได้โดยไม่คืนรูป มีความแข็งแรง ไม่ลามไฟ เหมาะสำหรับการใช้ส่งและรับลมเย็นตามจุด spot cooling งานระบบลำเลียงอากาศภายในอาคาร ระบายกลิ่นสีและก๊าซ หรือใช้เป็นท่อดูดฝุ่น

 

ประโยชน์ในการใช้งานของท่อเฟล็กซ์

        - ท่อลมระบายอากาศที่เห็นได้ตามโรงงานอุตสาหกรรม อาคาร หรือห้างสรรพสินค้า เรียกว่า ท่อเฟล็กซ์ ซึ่งการเลือกใช้ท่อเฟล็กซ์จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับสถานที่ หรือเหมาะกับงานนั้นๆ ซึ่งจะช่วยทำให้อากาศถ่ายเทได้อย่างสะดวก หมดกังวลเรื่องอากาศที่เป็นพิษในตัวอาคารได้ เพราะด้วยระบบท่อที่ดี จะช่วยให้การระบายอากาศเสียออกไปยังนอกอาคารได้เป็นอย่างดี

        - ด้วยคุณสมบัติเด่นๆ ของท่อเฟล็กซ์ ในเรื่องของการยืดหยุ่น จึง้หมาะกับการใช้งานในพื้นที่ที่จำกัด ไม่ว่าจะเป็น ชั้นใต้ดิน อุโมงค์ การขุดเจาะท่อ ซึ่งท่อเฟล็กซ์สามารถเข้าไปช่วยเรื่องการระบายและการหมุนเวียนอากาศได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้ที่ทำงานบริเวณนั้นสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย

        - ช่วยถ่ายโอนความร้อนในตัวอาคาร โรงงาน ที่เกิดจากการทำงานของเครื่องจักร หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ออกไปยังภายนอกอาคารได้เป็นอย่างดี

 

          เมื่อรู้ชนิดของท่อเฟล็กซ์แล้ว ควรเลือกติดตั้งให้เหมาะกับงานและสถานที่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งบริษัท ซาป๊ะ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายพัดลมอุตสาหกรรม อุปกรณ์ระบายอากาศภายในโรงงาน อาคาร โกดัง และฟาร์มปศุสัตว์ ยินดีให้คำปรึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับระบบระบายอากาศ

 

 -----------------------------------------------

   บทความที่เกี่ยวข้อง

อุปกรณ์ระบายอากาศสำคัญอย่างไรต่ออุตสาหกรรม

มาทำความรู้จักกับพัดลมอุตสาหกรรมให้มากขึ้น

พัดลมโบลเวอร์ดีอย่างไร